วิสัยทัศน์ (VISION) มุ่งผลิตพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมบริการ และเทคโนโลยีให้เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานในกลุ่มอันดามันสู่มาตรฐานอาเซียน

วิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมืองยินดีต้อนรับ
ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดพังงา

          จากพงศาวดารปรากฏว่าก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และสืบค้นได้แน่ชัด ปรากฏว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2352 ซึ่งในปีนั้นเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง และได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่ายของตน และเผาเมืองถลางเสีย ในการนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาช่วย และได้มาทันขับไล่ทหารพม่าหลบหนี

          ระหว่างศึกได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ “กราภูงา” (ภาษามลายู แปลว่า ป่าน้ำภูงา) ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้งเสร็จศึกแล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลาง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลางข้ามฟากมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ “กราภูงา” และจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ “ถลาง” ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพจากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริ   ที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้มแข็ง จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี พ.ศ.2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่งเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับจังหวัดพังงา ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นที่ทำการของรัฐบาล อยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา  พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ.2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน 

          ชื่อของจังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกว่า “เมืองภูงา” ตามชื่อเขางา หรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า “เมืองภูงา” เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้ แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเมืองภูงา เป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง “พังงา” เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า ภูงา หรือจะอ่านว่า พังงา หรือ พังงา ก็ได้

คำขวัญจังหวัดพังงา
          แร่หมื่นล้าน  บ้านกลางน้ำ  ถ้ำงามตา  ภูผาแปลก  แมกไม้จำปูน  บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร
ตราประจำจังหวัดพังงา
ตราประจำจังหวัดพังงา มีความหมายดังนี้

          รูปเขาช้าง หมายถึง สัญลักษณ์ภูเขาสูงรูปช้าง ซึ่งอยู่หลังศาลากลางจังหวัดพังงา ประวัติศาสตร์กล่าวว่า    ในพ.ศ. 2352 พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายใต้ (ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ถลาง) ราษฎรบางส่วนที่ไม่มีอาวุธ และกำลังจะต่อสู้ต้องอพยพไปหลบภัย อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำพังงา ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ และตั้งหลักแหล่งอยู่ตรงนั้นตลอดมา

          รูปเรือขุดแร่ หมายถึง สัญลักษณ์การประกอบอาชีพในอดีตของจังหวัดพังงาที่มีอาชีพหลัก ทางด้านการทำเหมืองแร่ดีบุก สามารถผลิตแร่ดีบุกได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศและเป็นที่ยอมรับกันว่า ในอดีตนั้นเศรษฐกิจและอาชีพของจังหวัดพังงาขึ้นอยู่กับแร่เป็นสำคัญ

          รูปเขาตะปู หมายถึง สัญลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา

          ต้นไม้ประจำจังหวัดพังงา

          พันธุ์ไม้พระราชทาน :    เพื่อปลูกเป็นมงคล จังหวัดพังงา

          ชื่อวิทยาศาสตร์  :         Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm 

          ชื่อวงศ์  :                  Lauraceae

          ชื่ออื่น   :                  จะไคหอม จะไคต้น จวงหอม พลูต้นขาว

          ลักษณะ :                  ไม้ต้นสูง 10- 30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ กิ่งอ่อนเกลี้ยงและมักจะมีคราบขาวเปลือกสีเทาอมเขียว หรือสีน้ำตาลคล้ำ แตกเป็นร่องตามยาว ลำต้น ใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันแผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ ยาว 7 – 20  เซนติเมตร ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร สีเขียว ขึ้นในป่าดงดิบบนเขา ทั่วประเทศ พบมากในภาคใต้ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

          ประโยชน์ :                เนื้อไม้มีกลิ่นหอมฉุน ใช้ในการแกะสลักบางอย่าง ทำเตียงนอน ทำตู้ หีบใส่ เสื้อผ้ากันมอด และแมลงอื่น ๆ และใช้เป็นยาสมุนไพรเปลือกเป็นยาบำรุงร่างกายอย่างดี โดยเฉพาะหญิงสาวรุ่น ต้มกินแก้เสียดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

       ดอกไม้ประจำจังหวัดพังงา

 

ชื่อพื้นบ้าน :              จำปูน

          ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Anaxagorea siamensis

          ชื่อวงศ์  :                  ANNONACEAE

          ลักษณะ :                  เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นใบและกิ่งคล้ายๆ กระดังงา ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร กิ่งก้านจะเกลี้ยง ลำต้นตรง เปลือกเรียบมีสีเทาคล้ำ ใบสีเขียวเป็นมันพื้นใบเกลี้ยง ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามยอดหรือโคน ก้านใบลักษณะดอกจะแข็ง มีสีขาวเป็นมัน มี 3 กลีบ เมื่อบานเต็มที่ประมาณ 1 นิ้ว มีกลิ่นหอมแรงตอนกลางวัน

          ขยายพันธุ์ :               โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่เพาะเมล็ดจะได้ผลดีกว่า         

          สภาพที่เหมาะสม :        เป็นไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินทุกชนิด

          ถิ่นกำเนิด :                ภาคใต้ของประเทศไทย

     ขนาดและที่ตั้ง  

          จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ทางภาคใต้ตอนบนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกติดกับทะเลอันดามัน อยู่ระหว่างละติจูดที่ 8 องศา 27 ลิปดา 52.3 ฟิลิปดาเหนือกับเส้นลองติจูดที่ 98 องศา 32 ลิปดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 788 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,170.885 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2,606,803.125 ไร่ เป็นอันดับที่ 9 ของภาคใต้และเป็นอันดับที่ 54 ของประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

พื้นที่ทำการเกษตร        1,806.112  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ              1,128,824   ไร่

พื้นที่ป่าไม้                      1,722.55    ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ               1,076,594  ไร่

เนื้อที่อื่นๆ                       642.227   ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ            401,392.625  ไร่

อาณาเขตติดต่อ

          ทิศเหนือ          ติดต่อกับ จังหวัดระนอง

          ทิศใต้             ติดต่อกับ จังหวัดภูเก็ตตรงช่องแคบปากพระ เชื่อมกันโดยสะพานสารสินและสะพานเทพกระษัตรี

          ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่

          ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย 

   ลักษณะภูมิประเทศ

          สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดพังงา เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดเป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 239.25 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าไม้ เป็นป่าไม้ประเภทไม้ผลัดใบ มีชนิดป่าที่สำคัญ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน สำหรับบริเวณที่เป็นที่ราบจะลาดลงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ลงสู่ทะเล อันดามัน ตามชายฝั่งทะเลจะมีป่าชายเลนเกือบตลอด พื้นที่ประกอบด้วยเกาะประมาณ 105 เกาะ และมีเกาะอยู่ในทะเลอันดามันจำนวนมาก เช่น เกาะยาว หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน

   ลักษณะภูมิอากาศ

          พังงามีภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 ฤดู คือ

                   ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ไปถึง เดือนเมษายน

                   ฤดูฝน   เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปถึง เดือนธันวาคม

   การปกครอง

          การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่

  1. อำเภอเมืองพังงา

  2. อำเภอเกาะยาว

  3. อำเภอกะปง

  4. อำเภอตะกั่วทุ่ง

  5. อำเภอตะกั่วป่า

  6. อำเภอคุระบุรี

  7. อำเภอทับปุด

  8. อำเภอท้ายเหมือง